วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โวหารภาพพจน์ คืออะไรนะ ?

โวหารภาพพจน์




วหารภาพพจน์
           ภาพพจน์หรือโวหารภาพพจน์ (figure  of  speech)  เป็นกลวิธีทางภาษาที่มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งทั้งความหมายนัยตรงและนัยแฝงเร้น เน้นให้เกิดทั้งอรรถรสและสุนทรียรสในการสื่อสาร อันเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งทางวรรณศิลป์
๑.ความสำคัญของภาษาภาพพจน์

            ภาษาภาพพจน์ช่วยเสริมให้สำนวนโวหารดีขึ้นเกิดภาพในใจชัดเจน  โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรม  จะเกิดรูปธรรมที่แจ่มชัด  เช่น  “ไวเหมือนปรอท  อืดเป็นเรือเกลือ  ฉันรักเธอเท่าฟ้า  ขาวราวสำลี  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  อดเปรี้ยวไว้กินหวาน  สวยเหมือนนางละคร  ฯลฯ
๒.จุดประสงค์ของการใช้ภาพพจน์
                    ๒.๑ ภาพพจน์ให้ความสำเริงอารมณ์  หมายถึงภาพพจน์บันดาลให้ผู้อ่านผู้ฟังได้ใช้ความคิดและจินตนาการ  ซึ่งอาจเปรียบได้กับการที่เราได้ก้าวออกจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง  มีความเคลื่อนไหวตื่นตัว  ไม่เฉยชาซึมเซาในระหว่างติดตามอ่าน  ได้สังเกตพิจารณาเห็นสิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่ต่างกัน  ดังเช่นเราตั้งชื่อสิ่งต่างๆด้วยการเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนหรือสิ่งที่ต่าง  โดยใช้การสังเกต  ความคิด  และจินตนาการเทียบเคียง
                    ๒.๒  ภาพพจน์ทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมขึ้น  การใช้ภาพพจน์เป็นการช่วยผู้อ่านนึกเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  ซึ่งเท่ากับว่าทำให้วรรณคดีเข้าสู่ประสาทสัมผัสและการรับรู้โดยตรง  อาจจะโดยการได้ยิน  ได้เห็น  ได้สัมผัส  ฯลฯ  ได้ร่วมมีประสบการณ์  จึงทำให้เข้าถึงและเข้าใจวรรณคดีเรื่องนั้นๆได้ดียิ่งขึ้น
                    ๒.๓  ภาพพจน์ให้ความเข้มข้นทางอารมณ์มากขึ้น  ด้วยการให้ความแตกต่าง  ความขัดแย้ง  ความเหมือน  ความผสาน  และทัศนคติที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด
                    ๒.๔ ภาพพจน์ช่วยให้กล่าวคำน้อยแต่ได้ความมาก  ทั้งนี้ด้วยลักษณะการบังคับทางฉันทลักษณ์  ที่กำหนดจำนวนคำ  สัมผัส  คำครุ-คำลหุ  ดังนั้นกวีจึงต้องสรรคำมาใช้ให้สามารถลงในตำแหน่งนั้นอย่างเหมาะสม  ขณะเดียวกันก็ต้องได้เนื้อความหรือความหมายตามที่ต้องการด้วย  เพื่อให้สามารถสื่อความและสื่ออารมณ์ได้
๓.ชนิดของภาพพจน์
                    ๓.๑ อุปมา( Simile) คือ การเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนหรือคล้ายกับอีกสิ่งหนึ่งโดยมีคำเชื่อมดังนี้ คือ เหมือน เสมือน เหมือนดั่ง ดุจ  ประดุจ ประหนึ่ง ละม้าย เสมอ ปาน เพียง ราว ราวกับ เทียบ เทียม คือ ฯลฯ

ตัวอย่าง

           แล้วว่าอนิจจาความรัก        พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป          ไหนเลยจะไหลคืนมา
                               (อิเหนา : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

           สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด         งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
      พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา            ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
      คิ้วก่งดังกงเขาดีดฝ้าย                 จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
      หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                ลำคอโตตันสั้นกลม
                                     (ระเด่นลันได :พระมหามนตรี (ทรัพย์)

             ๓.๒  อุปลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งว่ามีคุณสมบัติร่วมหรือเช่นเดียวกับอีกสิ่งหนึ่ง การใช้โวหารภาพพจน์ชนิดนี้อาจใช้คำเปรียบ เป็น คือ  เท่า เท่ากับ หรือไม่มีคำเปรียบก็ได้

ตัวอย่าง


  อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก          แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
   ถึงเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย             เจ็บเจียรตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
                                       (เพลงยาวถวายโอวาท : สุนทรภู่)

       จะว่าขมอะไรในพิภพ               ไม่อาจลบบอระเพ็ดที่เข็ดขม
 ถึงดาบคมก็ไม่สู้คารมคม                   จะว่าลมปากนั้นมากแรง
                                         (นิราศเดือน : นายมี)
  
            เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ               เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
     ใครต้องข้องจิตต์ชาย                     ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
     ปลาเสือเหลือที่ตา                       เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
     เหมือนตาสุดาดวง                       ดูแหลมล้ำขำเพราะคม
                                        (กาพย์เห่เรือ : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)

          ๓.๓ ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ (Paradox)คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
                       
ตัวอย่าง
            เปล่าเปลี่ยวเหี่ยวอกโอ้              โอ๋อก
       หนาวจิตคืออุทก                       สะทกสะท้อน
  คิดโฉมประโลมกก                      กอดอุ่น
  กายแม่เย็นยามร้อน                     อุ่นเนื้อยามหนาว
                                        (นิทานเวตาล : น.ม.ส.)

             เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น   เธอตายเพื่อผู้อื่นนับหมื่นแสน                    เธอเป็นดินก้อนเดียวในดินแดน         แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน 
                                  (กระทุ่มแบน : เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์)

           ๓.๔ อติพจน์ หรือ อธิพจน์(Hyperbole) คือ ภาษาภาพพจน์ที่กล่าวเกินจริงอาจมากหรือน้อยเกินจริงก็ได้

 ตัวอย่าง
                                  
              เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม          ถึงพรหม
           พาเทพเจ้าตกจม              จ่อมม้วย
           พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม           ทบท่าว  ลงนา
           หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย           พี่ไว้จึงคง
                                    (โคลงเบ็ดเตล็ด : ศรีปราชญ์ )

       ตราบขุนคิริขัน                ขาดสลาย  ลงแม่
          รักบ่หายตราบหาย               หกฟ้า
     สุริยจันทรขจาย                 จากโลก  ไปฤา
     ไฟแล่นล้างสี่หล้า                ห่อนล้างอาลัย
                                    (นิราศนรินทร์ : นรินทรธิเบศร์)

         เวหาผผ่าวเพี้ยง             พันแสง ส่องเอย
          เรียมรัญจวนใจจอม               จิ่มหล้า
          อาดูรคระแลงแสดง               แสนโศก
          แสนสุเมรุไหม้ฟ้า                ไป่ปาน
                                     (ทวาทศมาสโคลงดั้น)

              ๓.๕ บุคลาธิษฐาน (Personification) คือ การที่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต  ไม่มีวิญญาณ ไม่มีความคิด ให้เป็นเสมือนมีชีวิต มีจิตวิญาณ มีความคิด มีความรู้สึกต่างๆ  แล้วสื่อความรู้สึกออกมาให้ผู้รับสารได้รู้

 ตัวอย่าง


              ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น      โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง
           น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง    มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ
                                     (นิราศเมืองเพชร : สุนทรภู่)

              ลำดวนจะด่วนไปก่อนแล้ว       ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
           จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี          จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
           ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม          จะพลอยตอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ
           ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ          จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป
       (ขุนช้างขุนแผน)                       

               ๓.๖ สัญลักษณ์(Symbol) คือ การเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป     


ตัวอย่าง

          สิงโต         แทน      กำลังและความกล้าหาญ

         แก้ว           แทน      ความดีงาม  ของมีค่า
         แพะ           แทน      ตัณหาราคะ

         ดอกไม้        แทน      ผู้หญิง    
         ลา              แทน      คนโง่
         เมฆหมอก    แทน      อุปสรรค

         ดอกมะลิ       แทน      ความบริสุทธิ์

         แสงสว่าง      แทน      สติปัญญา

         สุนัขจิ้งจอก   แทน      คนเจ้าเล่ห์

         นกพิราบ       แทน      สันติภาพ

         รุ้ง               แทน      พลัง  ความหวัง  กำลังใจ       

           ๓.๗ นามนัย (Metonymy) คือ การใช้คำอื่นเรียกชื่อสิ่งหนึ่งแทนการเรียกตรงๆ  คล้ายๆสัญลักษณ์แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด  หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด

ตัวอย่าง
                        
           เก้าอี้          แทน      ตำแหน่ง
           หัวโขน       แทน      บทบาท  ตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
           รากหญ้า      แทน      ประชาชนระดับล่าง
           ดงขมิ้น       แทน      พระ   เณร
           หมู              แทน      ง่าย
           เมืองโอ่ง      แทน      จังหวัดราชบุรี
           เมืองย่าโม     แทน      จังหวัดนครราชสีมา

           ๓.๘ สัทพจน์(Onematoboeia)คือ การเลียนเสียงธรรมชาติหรือแสดงอาการต่างๆ ตามธรรมชาติการใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริงๆ

ตัวอย่าง

       เสียงกรอดเกรียดเขียดกบเข้าขบเคี้ยว  เหมือนกรับเกรี้ยวกรอดกรีดวะหวีดเสียง
หริ่งหริ่งแหร่แม่หม่ายลองไนเรียง       แซ่สำเนียงหนาวในใจรำจวน
                                 (นิราชเมืองเพชร : สุนทรภู่)

          ฝนตกห่าใหญ่ใส่ซู่ซู่          ท่วมคูท่วมหนองออกนองเจิ่ง
คางคกขึ้นกระโดดโลดลองเชิง        อึ่งอ่างเริงร่าร้องแล้วพองคอ
                                 (ระเด่นลันได :พระมหามนตรี (ทรัพย์))


          “พวกเหล่าสังคีตนี่ก็มาดีดสีตีระงม  ทั้งโทนทับรับจังหวะโจ๋งจะจิ๊งจั๋งโจ๋ง ๆ ทั่ง ๆ บัณเฑาะดีดสายพิณดังฟังวิเวกแว่ว รัวระนาดแก้วแจ้วใจจริง ทุระหร่างทุระหริงฉิ่งฉั่งฉ่างฉับ ฆ้องวงก็รับถิ่งนังโหน่งเหน่ง กระจับปี่ก็รี่เร่งเร็ว ๆ ๆ  เร่งระนาดก็กราเกร่งบรรเลงลอยว่านอระน้อด ๆ นอง   ฆ้องใหญ่ใส่เต่งเต้งทิงนังเหน่ง ๆ หนอด ฆ้องเล็กก็ลอดหน่อระหนอด ๆ หน่อง รัวระนาดทองทุระหริ่ง ๆ หริง ๆ ระนาดทุ้มทุม ๆ ทิงทุมทิงเท่ง ระนาดไม้เร่งรอปร๋อ ๆ ปรูด ๆ หนอง ๆ หนูดปรูดปร๋อปร๋อย”      


                                 (ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช)


โวหารการเขียน คืออะไรนะ ?

โวหารการเขียน


                มี ๕ โวหาร  คือ บรรยายโวหาร  พรรณนาโวหาร  เทศนาโวหาร  สาธกโวหาร
          1.  บรรยายโวหาร  คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่าง สั้น ๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น

หลักการเขียนบรรยายโวหาร 

        1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้
        2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
        3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป
        4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน

ตัวอย่างบรรยายโวหาร

  “ … ทุก ครั้งที่พ่อไปเมืองนอก พ่อหาโอกาสไปดูสถานที่น่าสนใจและดูความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าของชาติต่างๆอยู่เสมอ และพ่อจะกลับมาเล่าให้ฟังอย่างมีระบบและละเอียดลออพร้องทั้งของฝากที่น่า สนใจ ครั้งหนึ่งพ่อซื้อตุ๊กตามาฝากจุ๊ เป็นตุ๊กตาประหลาด เพราะมันหลับตาและลืมตาได้ สวยจนเราแทบไม่น่าจับ แต่จี๊ดสนใจมาก จนอยากรื้อออกมาดูว่ามีกลไกอะไรที่ทำให้มันหลับตาได้… ”
จากเรื่อง “ พ่อเล่า ” ของ จารุณี สูตะบุตร

                2.  พรรณนาโวหาร  มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณา โวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติเป็นโวหารที่ใช้ถ้อยคำอธิบายหรือบรรยายสิ่งที่พบเห็นอย่าง ละเอียด โดยใช้สำนวนโวหารที่ไพเราะสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจและความซาบซึ้งมีความรู้สึกและเห็นภาพตามไป ด้วยกับคำพรรณนาโวหาร วิธีการเขียนพรรณนาโวหาร ผู้เขียนต้องรู้จักใช้ถ้อยคำที่ประณีตให้ความรู้สึกโดยหยิบยกลักษณะสำคัญมา กล่าว การใช้ถ้อยคำในการบรรยายลักษณะจะใช้ถ้อยคำที่แสดงรูปธรรม เช่น บอกลักษณะ สีสัน รูปร่าง เวลาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน หรือใช้ถ้อยคำทำให้เกิดความไพเราะ

หลักการเขียนพรรณนาโวหาร

                1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยายควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร         ในงานร้อยกรอง
                2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา
                3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม
                4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด โกธร แค้น เศร้าสลด เป็นต้น
  
ตัวอย่างการพรรณนาโวหาร

“ … จิวยืนอยู่ห่างจากเต่านั้นเล็กน้อย เขานุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเข้ม ท่อบนของร่างกายเปล่าเปลือยผิวขาวจัดของเขาถูกกระไอร้อนของน้ำมันที่เดือด พล่านอยู่ในกระทะรมเสียจนขึ้นเสียระเรื้อแดง และเหงื่อที่พรั่งผุดออกมาตามขุมขนสะท้านกับเปลวไฟที่แลบเลียอยู่ขอบกระทะแล เป็นเงาวับเขากำลังใช้ตะหลิวด้าวยาวคนกวนชั้นมันหมูที่กำลังถูกเคี่ยวลอย ฟ่องอยู่มนกระทะอย่างขะมักเขม้น สองมือของเขากำอยู่ที่ด้าวตะหลิวท่อนแขนที่ค่อยๆกวนตะหลิวไปมานั้นเกร็งเล็ก น้อย จนแลเห็นกล้ามเนื้อขึ้นเป็นลอนเมื่อมองผาดผ่านมายังลำตัวของเขาหล่อนก็ ประจักษ์ถึงความล่ำสันแข็งแรงแผงอก แม้จะไม่กำยำผายกว้าง แต่ก็มีมัดกล้ามขึ้นเป็นลอนดูทรงพลังหน้าท้องราบเรียบบ่งบอกว่าทำงานออก กำลังอยู่เป็นนิจ เอวค่อนข้างคอดเป็นรูปสวยรับกับท่อนขาที่ยาวแบบคนสูงเมื่อเขายืนแยกขาออก ห่างจากกันเพื่อได้รับน้ำหนักได้เหมาะสมด้วยเช่นนี้ แลดูเหมือนเสากลมเรียวสองต้นที่ประสานลำค้ำจุนร่างกายของเขาอย่างมั่นคง… ”
จาก “กตัญญูพิศวาส” ของ หยก บูรพา

ตัวอย่าง

                “ ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด              ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา
พอใบไหวพลิกริกริกมา                                                       ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก
                เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวับวับไหว                                      ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก
เพียงแววตาคู่นั้นหวั่นสะทก                                                 ก็รู้ว่าในอกมีหัวใจ “
เพียงความเคลื่อนไหว ของเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ )
   
                  3.  เทศนาโวหาร  หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจเป็นถ้อยคำโวหารที่ใช้อธิบายความคิดเหตุผล โดยต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นด้วย เกิดความเชื่อถือและปฏิบัติตาม วิธีการเขียน ผู้เขียนต้องเขียนอธิบาย หรือให้คำจำกัดความของสิ่งที่จะชี้แจงก่อน จากนั้นจึงกล่าวถึงเหตุผลที่จะเกิดตามมา อธิบายคุณและโทษพร้อมยกตัวอย่างประกอบหรือเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเข้าใจดี ขึ้น การยกตัวอย่างประกอบเรื่องรวในเทศนาโวหารนั้นเป็นสาธกโวหารประกอบเทศนาโวหาร เสมอ

หลักการเขียนเทศนาโวหาร 

               การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้ เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น

ตัวอย่างเทศนาโวหาร 

                 การอบรม สั่งสอนลูกเคร่งครัดมากมายเกินไป ก็อาจเป็นผลร้ายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีเลี้ยงลูกที่ดีก็คือ เดินตามทางสายกลาง อย่าให้ตึงหรือหย่อนเกินไป ควรเปิดโอกาสให้เด็กหรือลูกได้ใช้ความคิด ได้ทดลอง ได้มีประสบการณ์ต่างๆได้รู้วิธีช่วยตัวเอง ได้ฝึกแก้ปัญหาของตัวเองให้มากส่วนที่จะควบคุมกันควรเป็นแต่เรื่องกรอบของ กฎหมายและศีลธรรมเท่านั้นการสอนให้เขาได้ทำกิจกกรมที่เป็นประโยชน์ที่เขาพอ ใจให้มากย่อมีกว่าการตั้งแต่ข้อห้าม หรือการให้ทำตามคำสั่งแต่ฝ่ายเดียว
จากเรื่อง “ เหมือนๆ จะแพ้แต่ไม่แพ้ ”
ของธรรมจักร สร้อยพิกุล

ตัวอย่าง

โยคีสอนสุดสาครในเรื่องพระอภัยมณี
“ บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว                         สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                                         ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์                                  มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
อันเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด                               ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน    ( สุนทรภู่ )

                  4. สาธกโวหาร  คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้ หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาใน บางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆเป็นการยกตัวอย่างประกอบเรื่องราว เพื่อให้ข้อความนั้นเด่นชัดขึ้น หรือข้อเปรียบเทียบประกอบอย่างมีเหตุผล

การเขียนสาธกโวหาร 

            ๑. การเขียนสาธกโวหารจะเขียนควบคู่กับเทศนาโวหาร หรือบรรยายโวหาร โดยการยกตัวอย่างประกอบ
            ๒. ตัวอย่างที่ยกมาประกอบต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับเนื้อความในเทศนาโวหารหรือบรรยายโวหาร
            ๓. ต้องยกตัวอย่างชัดเจนใช้ถ้อยคำง่าย และควรสรุปหลังจากยกตัวอย่างประกอบแล้ว ให้เห็นความสำพันธ์ของเทศนาโวหารกับสาธกโวหารหรือบรรยายโวหารกับสาธกโวหาร

ตัวอย่างสาธกโวหาร

              ใน เรื่องน้ำ เรามองว่าประเทศไทยมีน้ำเยอะแยะ เราไม่เคยคิดประหยัดว่าจะใช้น้ำคุ้มค่าที่สุดอย่างไร เช่น น้ำที่เหลือจากการซักล้าง เราก็ควรจะเอาไปรดน้ำต้นไม้ ความประหยัดเป็นจุดหนึ่งของการลดความต้องการที่เพิ่มขึ้น การที่เราจะต้องการพื้นที่การเกษตรปลูกผลิตผลการเกษตรให้มากขึ้น ถ้าเรารู้จักประหยัด เราก็จะไม่ต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น เรื่องอาหารก็จะลดลงไป อย่างเช่นการดื่มกาแฟในการประชุมหลายแห่ง แม้แต่การประชุมนานาชาติ ผมไม่รู้ว่ากาแฟเททิ้งกันเท่าไหร่ แล้วกาแฟมาจากไหน ก็มาจากป่าเขตร้อนป่าเขตร้อนที่โดนทำลายไปเพราะคนพื้นเมืองต้องการทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ เพราะกาแฟราคาดี มันมีผลถึงกันหมด
สุรพล ดวงแข : นิตยาสาร “สาระคดี”
ฉบับที่ ๖๕ ปีที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓

ตัวอย่าง เขาหลงรักเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์
          ในเมืองเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ไกลสุดโพ้นทะเลมีพระราชาพระองค์หนึ่งเป็นผู้ที่หวงแหนพระราชธิดามาก พระองค์มีธิดา
เพียงองค์เดียว ดังนั้นจึงเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอให้ความสุขความสำราญเต็มที่ และเจ้าหญิงองค์นี้ก็มีพระสิริโฉมงดงามที่สุด
อยู่มาวันหนึ่งเจ้าหญิงได้ออกมาเดินเล่นในอุทยานดอกไม้เดินไปก็ร้องเพลงไปน้ำเสียงของเจ้าหญิงช่างอ่อนหวานและ
กัง วาลยิ่งนัก ในขณะที่เดินชมสวนอยู่ก็ได้พบกับองครักษ์หนุ่มของพระราชาเข้าโดยบังเอิญทั้ง สองตกหลุมรักกันในทันที แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าองครักษ์หนุ่มผู้นี้ต่ำต้อยด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ เหลือเกินจึงได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในใจ เมื่อพระราชาทรงทราบข่าวก็กริ้วมาก จึงขับไล่องครักษ์ออกจากวัง เจ้าหญิงเสียพระทัยมาก
ต่อมาพระราชาจึงให้เจ้าหญิงอภิเษกกับเจ้าชายต่างเมืององครักษ์ผู้นี้จึงได้แอบติดตามข่าวของเจ้าหญิงอยู่เงียบๆ เขา
คิด ว่าตนเองนี้ต่ำต้อยเสียเหลือเกิน ถึงปรารถนาเจ้าหญิงมาครองคู่แต่ก็เพียงแค่มองไม่าสมารถไขว่ขว้าไว้กับตนได้ อุปมาดั่ง"กระต่ายหมายจันทร์"

ตัวอย่าง คนที่เขาฉลาดจริงๆ เขาไม่โอ้อวดหรอก อย่างที่เขาเรียกว่า”คมในฝัก”
           ใน การเปิดเรียนภาคแรก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่เป็นนักเรียนใหม่ในโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ณ ห้อง ม.1/20 นักเรียนทุกคนเป็นนักเรียนเรียนดี ในห้องนี้มีนักเรียนคนหนึ่งชื่อ”จุ๊บแจง” ชอบ พูดตาโอ้อวดว่าเป็นคนฉลาด สวย รวย มีความพร้อมทุกอย่างและชอบพูดจาดูถูกผู้อื่น คิดว่าตนเองนั้นเก่งอยู่คนเดียว ณ อีกมุมหนึ่งของห้องมีนักเรียนอีกคนหนึ่ง ชื่อ “หนุงหนิง” หนุงหนิงเป็นเด็กเรียบร้อยไม่ค่อยพูด แต่เวลาเพื่อนมาถามการบ้านก็สอนให้เสมอ วันหนึ่งจุ๊บแจงก็ได้พูดกับเพื่อนในห้องว่า”สอบครั้งนี้ฉันต้องได้ที่หนึ่งอย่างแน่นอน ไม่มีใครเรียนดีเท่าเราหรอก” เมื่อ ผลสอบปลายภาคออกมา ปรากฎว่าไม่เป็นดังที่จุ๊บแจงพูดไว้ แต่คนได้ที่หนึ่งกับเป็นหนุงหนิง เมื่อเพื่อนๆรู้ผลสอบก็ชื่นชมหนุงหนิงว่า”แหม หนุงหนิงเธอนี่คมในฝักจริงๆเลยนะ” จุ๊บแจงจึงเสียใจและเสียหน้ามาก และไม่มีใครสนใจจุ๊บแจงเลย

ตัวอย่าง      คนอย่างเขาสองคนเรียกว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
               มีผู้หญิง สองคนชื่อ หมี และ เหมียว  เขาทำงานอยู่ที่บริษัทเดียวกัน  วันหนึ่งแมวได้เห็นหมี  นำเงินของบริษัทมาใช้  เมื่อหมีรู้เข้าจึงขอร้องให้แมวอย่านำเรื่องนี้ไปบอกเจ้านาย  แมวจึงขอส่วนแบ่งจากเงินที่ได้มาเพื่อเป็นค่าปิดปาก  จากนั้นแมวกับหมีก็ได้ร่วมมือกันโกงเงินของบริษัท  เมื่อเจ้านายตรวจบัญชีดูจึงเรียกทั้งสองคนมาถาม   แต่ไม่มีใครกล้าพูดอะไร  ต่อมาไม่นานเมื่อเจ้านายรู้ความจริงว่าทั้งสองร่วมมือกันโกงเงินบริษัท  จึงได้ไล่ทั้งสองคนออกจากบริษัท

ตัวอย่าง  …โยคีเทศนาทหารทัพลังกาและเมืองผลึกในเรื่องพระอภัยมณี
            “ คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้             ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึงเห็นเป็นประธาน                      หวังนิพพานพ้นทุกข์สุขสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้                           เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย                              จะตกอบายภูมิขุมนรก

                 5. อุปมาโวหาร  หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหาร ใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใดเป็นโวหารสำนวนเปรียบเทียบ     เพื่อ ใช้ประกอบข้อความในสาธกโวหาร บรรยายโวหาร พรรณนาโวหารได้เด่นชัดขึ้น ดังตัวอย่างในพรรณนาโวหารจากเรื่องกตัญญูพิศวาสที่กล่าวมาแล้วดังข้อความ “แลดูเหมือนเสากลมเรียวสองต้นที่ประสานลำค้ำจุนร่างกายของเขาอย่างมั่นคง”

วิธีการเขียนเปรียบเทียบมีดังนี้

              ๑. เปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งเหมือนสิ่งหนึ่ง จะมีคำว่า เหมือน ราวดุจว่า เช่น ดัง เป็นตัวเชื่อมข้อความ
หญิงสาวสวยเหมือนบัวที่วางอยู่กลางบึง
เขาเป็นคนดุร้ายราวกับเสือ
เด็กๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดประดุจผ้าขาวที่ไม่มีรอยเปื้อน
             ๒. เปรียบเทียบโดยโยงความคิดผู้อ่านไปสู่สิ่งหนึ่ง เช่น ชีวิตเหมือนนวนิยาย เรื่องตลกเหมือนเรื่องศรีธนญชัย เป็นต้น

ตัวอย่างอุปมาโวหาร 

              เขา กาแฟในถ้วย โดยไม่หันมามอง น้ำสีดำหมุนติ้วเป็นวงลึกเหมือนวังน้ำวนในนิยายผจณภัยสยองขวัญ สักครู่มันก็แปรเป็นสีน้ำตาลอ่อนเพราะนมข้นหวานที่นอนก้นอยู่สองเซนติเมตร ครึ่ง เขาหยกช้อนสีเหรียญบาทขึ้นละเลียดด้วยปลายลิ้น ขณะที่สบตาจับจ้องอยู่ที่พาดหัวข่าวประจำวัน
ตัวอย่าง                              
“ ปางพี่มาดสมานสุมาลย์สมร
ดังหมายดวงหมายเดือนดารากร
    อันลอยพื้นอำพรพโยมพราย "






เรียนรู้โวหารจากวิดีโอ

มาเรียนรู้เรื่องโวหารเพิ่มเติมจากวิดีโอกันเถอะ เย้ !!


วิดีโอนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ตั้งใจฟังกันด้วยนะคะ :)















วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

แบบฝึกหัด

แบบฝึกหัดภาษาไทย เรื่อง โวหาร




คำชี้แจง ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด 

๑. ข้อใดที่ไม่ใช้โวหารภาพพจน์
   ก. ฉันไม่ใช่พระอิฐพระปูนนะ
   ข. เขามีเพชรอยู่ในมือแต่ปล่อยให้หลุดมือไปได้
 ค. ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่ง
  ง. บนเนินเขาเตี้ยๆ มีน้ำพุที่ให้น้ำตลอดฤดู ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว

๒. "บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดั่งกลางวัน” ข้อความนี้เป็นโวหารภาพพจน์ชนิดใด
   ก. อุปมา ข. อติพจน์
   ค. อุปลักษณ์ ง. บุคลาธิษฐาน 

๓. ข้อใดมีโวหารภาพพจน์เหมือนข้อความที่ว่า " เธอเป็นทาสในเรือนใจผู้ซื่อสัตย์ของฉัน "
   ก. พ่อคือสายน้ำฉ่ำใจ
   ข. เมื่อลมพัดใบไม้สะบัดโบกมือเรียกเธอ
   ค. เรือชัยไวว่องวิ่งรวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
   ง. รอบข้างไม่มีที่นาที่ไหนว่าง แต่ชาวนายังอดตาย 

๔. ข้อใดเป็นโวหารภาพพจน์
   ก. พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
   ข. นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
   ค. ไก่ฟ้ามาตัวเดียว เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา
   ง. เพียนทองงามดั่งทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย 

๕. ข้อใดเป็นโวหารภาพพจน์ชนิด " อวพจน์ "
   ก. ร้อนตับจะแตก
   ข. รอมาสักร้อยชาติแล้ว
   ค. เหนื่อยสายตัวแทบขาด
   ง. คอยสักอึดใจเดียวเท่านั้น 

๖. " เมื่อฟ้าหลั่งน้ำตา หมู่เมฆาพาหัวร่อ แผ่นดินร่วมยั่วล้อ ลมรุมด่าว่าซ้ำเติม
ข้อความนี้ใช้โวหารภาพพจน์ชนิดใด
   ก. นามนัย            ข. อติพจน์
   ค. อุปลักษณ์       ง. บุคลาธิษฐาน 

๗. ข้อใดเป็นโวหารภาพพจน์ชนิด ปฏิพากย์
   ก. แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
   ข. คุณแม่หนาหนักเพี้ยงพสุธา
   ค. ขอให้คุณแม่มีอายุยืนยาวราวกำแพงเมืองจีน
   ง. ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน

๘. ความในข้อใดมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ
   ก. นางนวลนอนแนบน้ำในนา
   ข. พระพายชายพัดมาเชยชื่น
   ค. จักจั่นสนั่นเสียงเสนาะดง
   ง. ฆ้อนทองร้องรับกันป๊กป๊ก 

๙. ความในข้อใดใช้โวหารภาพพจน์ชนิด "นามนัย"
   ก. ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร
   ข. เจ้าพูดจาใช้ถ้อยคำวกเวียนเหมือนลูกหมาไล่กัดหางตัวเอง
   ค. ดอกไม้แย้มกลีบยิ้มริมบึงช่างตรึงจิต ลมจุมพิตเท่าไรก็ไม่หมอง
    ง. เสียงคลื่นระทม  สายลมยังตระโบมลูบไล้ ผิวน้ำทะเล   จะตรมระบมเท่าไร

๑๐. " สายธาราดั่งนาฬิกาแก้ว  แว่วแว่วจ๊อกจ๊อกเซาะซอกหิน "
ข้อความนี้มีโวหารภาพพจน์ชนิดใดบ้าง
   ก. อุปมา           ข. สัทพจน์
   ค. อุปลักษณ์     ง. บุคลาธิษฐาน 

๑๑.  คำถาม :     โวหารในภาษาไทยมีกี่ชนิด
     ก.       ๓ ชนิด
     ข.       ๔ ชนิด 
     ค.       ๕ ชนิด
     ง.       ๖ ชนิด
๑๒.  คำถาม :    "พ่อแม่ของธนามีอาชีพเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่คราวละหลายร้อยตัว เป็ดเหล่านี้กำลังออกไข่ทุกวัน ธนาจึงตื่นแต่เช้าเก็บไข่เป็ดในเล้า ให้แม่นำไปขายที่ตลาด"  เป็นโวหารชนิดใด
     ก.       พรรณนาโวหาร
     ข.       บรรยายโวหาร
     ค.       สาธกโวหาร
     ง.        อุปมาโวหาร
๑๓.  คำถาม :    ผิวน้ำสีขุ่นที่ถูกสายลมเย็นปลายเดือนกุมภาพันธุ์โชยพัดผ่าน ทำให้น้ำเป็นระลอกทยอยเข้ากระทบฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า ดงดอกหญ้าริมฝั่งที่เหี่ยวแห้งจนกลายเป็นสีน้ำตาลปะทะลมดังหวีดหวิว  เป็นโวหารชนิดใด
     ก.       พรรณนาโวหาร
     ข.       บรรยายโวหาร
     ค.       อุปมาโวหาร
     ง.        สาธกโวหาร
๑๔.  คำถาม :     ความพยายามและความตั้งใจที่จะก้าวหน้า เป็นพลังสำคัญสำหรับต่อสู้อุปสรรค และส่งเสริมบุคคลให้ทำการต่างๆได้สำเร็จ ยิ่งผู้นั้นมีความรู้สูง มีจิตใจดีเป็นพื้นฐาน ผลงานที่ทำยิ่งมีผลกว้างขวาง ปราศจากโทษและอำนวยประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง  เป็นโวหารชนิดใด
     ก.       เทศนาโวหาร
     ข.       บรรยายโวหาร
     ค.       พรรณนาโวหาร
     ง.        สาธกโวหาร
 ๑๕  คำถาม :     เขารักษาความดีประดุจเกลือรักษาความเค็ม ทำให้มีแต่คนนับถือ
      ก.       บรรยายโวหาร
      ข.       อุปมาโวหาร
      ค.       เทศนาโวหาร
      ง.        สาธกโวหาร

เฉลย

  ก.ข้อ ๑  ๒  ๑๓   ๑๔      ข.ข้อ ๒  ๓  ๑๒   ๑๕
  ค.ข้อ ๓  ๔  ๑๑               ง.ข้อ ๑  ๓  


เป็นยังไงกันบ้างคะ ข้อสอบง่ายไหมเอ่ย ? 
นักเรียนสมารถฝึกทำข้อสอบเพิ่มเติมได้นะ คลิกที่นี่ เลยจ้า